ประเทศไทยอาจจะเผชิญกับช่วงเวลาที่มีจำนวนประชากรลดลงต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลายาวนาน สินค้าอุปโภค บริโภคขายได้ลดลง รวมไปถึงที่อยู่อาศัยต่างๆ ที่มีความต้องการลดลง โดยสามารถพิจารณาได้จากการซื้อ-ขายหรือการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยทั้งมือหนึ่งและมือสองที่มีทิศทางขยายตัวลดลงมาโดยตลอด ผู้ประกอบการในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ก่อนหน้านี้เคยพัฒนาแต่โครงการที่อยู่อาศัยมาโดยตลอดก็ต้องขยายธุรกิจของตนเองไปทำธุรกิจอย่างอื่นทั้งที่มีความเกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์ และไม่มีความเกี่ยวข้องกันเลย รวมไปถึงกลุ่มธุรกิจหรือนักธุรกิจที่อาจจะประสบความสำเร็จจากการทำธุรกิจอย่างอื่นมาแล้ว ซึ่งในอดีตก่อนหน้านี้กลุ่มธุรกิจหรือนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จเหล่านี้อาจจะให้ความสนใจกับการลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะอาคารสำนักงาน โรงแรม รีสอร์ท แต่ปัจจุบันพวกเขาให้ความสนใจในการลงทุนพัฒนาโรงเรียนนานาชาติเป็นพิเศษ
จำนวนโรงเรียนนานาชาติในประเทศไทย
ที่มา: สำนักงานกรรมการการส่งเสริมการศึกษาเอกชน
การลงทุนหรือพัฒนาโรงเรียนนานาชาติเพื่อรองรับกลุ่มคนที่ต้องการให้บุตรหลานของตนเองได้รับการศึกษาดีๆ อีกทั้งครอบครัวคนไทยมีลูกกันลดน้อยลง ผู้ปกครองจึงมีความต้องการให้บุตรหลานตนเองหรือในอุปการะได้รับการศึกษาที่ดีโดยเฉพาะในเรื่องของภาษาต่างประเทศ การเรียนในอีกระบบที่แตกต่างจากการเรียนการสอนแบบพื้นฐานในประเทศไทย ซึ่งแน่นอนว่าการเรียนในหลักสูตรที่เป็นหลักสูตรจากต่างประเทศโดยตรงหรือเป็นหลักสูตรของโรงเรียนในต่างประเทศกลายเป็นทางเลือกที่น่าสนใจของกลุ่มคนที่มีฐานะหรือกำลังเพียงพอ แต่อาจจะไม่ต้องการส่งบุตรหลานตนเองไปต่างประเทศทั้งไม่สะดวกในเรื่องของค่าใช้จ่าย และความกังวลอื่นๆ การได้เรียนในโรงเรียนนานาชาติที่ใช้หลักสูตรเดียวกันในประเทศไทยก็เลยเป็นที่นิยมขึ้นมา นอกจากนี้ยังมีชาวต่างชาติทั้งจากประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนและอื่นๆ ที่ส่งบุตรหลานมาเรียนในโรงเรียนรูปแบบนี้ในประเทศไทยมากขึ้น โดยเฉพาะจากประเทศจีนที่เริ่มชัดเจนมากขึ้นช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เพราะปัญหาเรื่องโรงเรียนนานาชาติในประเทศจีน และค่าใช้จ่ายของโรงเรียนานาชาติในประเทศไทยก็ไม่สูงมากด้วย แต่คุณภาพและมาตรฐานสูงไม่แตกต่างจากประเทศตะวันตก
กลุ่มธุรกิจ นักธุรกิจ หรือครอบครัวของนักธุรกิจ หรือบางบริษัท และสถาบันการศึกษาบางรายมีการลงทุนในโรงเรียนนานาชาติต่อเนื่องมาโดยตลอดในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งบางรายมีโรงเรียนนานาชาติเป็น 1 ในธุรกิจที่สร้างรายได้มาตลอด และหาช่องทางรวมไปถึงโอกาสในการขยายโรงเรียนนานาชาติต่อไปเรื่อยๆ ทั้งการลงทุนพัฒนาเอง และการเข้าเทกโอเวอร์บางโรงเรียนที่ประสบปัญหาแล้วเข้าดำเนินกิจการต่อทันที โดยกลุ่มธุรกิจ หรือตระกูลที่มีการพัฒนาโรงเรียนนานาชาติของตนเอง เช่น
- กลุ่มธนาคารกรุงเทพ ของตระกูลโสภณพนิช ซึ่งนอกจากธนาคารกรุงเทพแล้วยังมีธุรกิจอื่นๆ อีก โดยเฉพาะเส้นทางธุรกิจของคุณชาลี โสภณพิช ผู้บริหารและผู้ก่อตั้งบริษัท ซิตี้ เรียลตี้ จำกัด ซึ่งมีการลงทุนพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์หลายโครงการ และมีการลงทุนพัฒนาโรงเรียนนานาชาติโชรส์เบอรีเพื่อรองรับรายได้จากการศึกษา และมีการซื้อโรงเรียนนานาชาติบางแห่งเข้ามาด้วยเพียงแต่มีการรับรู้ในวงกว้าง
- กลุ่มซีพี ของตระกูลเจียรวนนท์ มีธุรกิจที่หลากหลายมากมายทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ โดย 1 ในธุรกิจที่ดำเนินกิจการในประเทศไทย มามากกว่า 20 ปี คือ โรงเรียนนานาชาติคอนคอร์เดียน ที่มีคุณวรรณี เจียรวนนท์ รอสส์ เป็นผู้ก่อตั้ง โดยไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มธุรกิจซีพีเลยเป็นการลงทุนส่วนตัวของคุณวรรณี
- กลุ่มธุรกิจบีทีเอส ของตระกูลกาญจนพาสน์ อีก 1 กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีการลงทุนในโครงการหลากหลายประเภท และหลากหลายกลุ่มธุรกิจ คุณคีรี กาญจนพาสน์ ใช้บริษัท ยูซิตี้ จำกัด (มหาชน) 1 ในบริษัทในเครือร่วมทุนกับทางบริษัทฟอร์จูน แฮนด์ เวนเจอร์ ลิมิเต็ด จากฮ่องกงโดยเปิดให้บริการโรงเรียนนานาชาติเวอร์โซ ด้วยงบประมาณ 5,000 ล้านบาทเมื่อปีพ.ศ.2563 ที่ผ่านมา
- กลุ่มสหพัฒน์ ของตระกูลโชควัฒนา เจ้าของบริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) 1 ในกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ของประเทศไทยก็ให้ความสำคัญกับธุรกิจการศึกษาโดยขอเข้ามาถือหุ้น ในการลงทุนกว่า 4,000 ล้านบาท ซึ่งมีผู้ถือหุ้นใหญ่ คือ ดร.สาคร ศรีสุขวงศ์เพื่อเปิดโรงเรียนนานาชาติคิงส์คอลเลจ กรุงเทพ เมื่อปีพ.ศ.2563
- กลุ่มปาลเดชพงศ์ ที่เป็นผู้ก่อตั้งเด่นหล้ากรุ๊ป มีการเปิดโรงเรียนในชื่อเด่นหล้ามานานเกิน 10 ปีแล้ว และยังมีการเปิดใหม่ต่อเนื่องมาโดยตลอด ซึ่งล่าสุด คือ การลงทุนประมาณ 600 ล้านบาทเพื่อเปิดโรงเรียนนานาชาติ DLTS เพื่อต่อยอดจากธุรกิจโรงเรียนของตนเอง และรองรับความต้องการโรงเรียนนานาชาติที่เพิ่มมากขึ้น
- บริษัท มัลลิการ์ อินเตอร์ฟู๊ด จำกัด และบริษัท บีจีที คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ของ 2 พี่น้องตระกูลธรรมวัฒนะร่วมกันลงทุน 1,200 ล้านบาทเพื่อพัฒนาโรงเรียนนานาชาติไทยอินเตอร์เนชั่นแนลสกูล โดยคุณมัลลิการ์ ธรรมวัฒนะ มีประสบการณ์การบริหารโรงเรียนสาธิตเกษตรนานาชาติมานานกว่า 17 ปีจึงนำมาต่อยอดในธุรกิจนี้
- บริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) โดยกลุ่มอัสสกุล นอกจากจะมีธุรกิจประกันภัยและประกันชีวิตแล้ว ยังมีการลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยมีโรงเรียนนานาชาติเซนต์สตีเฟ่นส์ที่เขาใหญ่และกรุงเทพมหานคร
- บริษัท อาร์ทูดีวัน จำกัด ที่มีเพ็ญสิริ ทองสิมาเป็นผู้บริหารเปิดโรงเรียนนานาชาติเบซิส บนถนนพระราม 2 โดยร่วมมือกับทางบริษัท บีไอเอสบี จำกัดจากสหรัฐอเมริกา ด้วยเงินลงทุนประมาณ 1,500 ล้านบาท
- ทยา ทีปสุวรรณ และหุ้นส่วนร่วมกันลงทุนประมาณ 1,500 ล้านบาทืเพื่อลงทุนในการพัฒนาโรงเรียนนานาชาติรักบี้ ซึ่งเป็นแบรนด์โรงเรียนจากประเทศอังกฤษบนที่ดินกว่า 200 ไร่ในจังหวัดชลบุรี
- มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ โดนทายาทรุ่นที่ 3 ดร.ดาริกา ลัทธพิพัฒน์ เปิดโรงเรียนนานาชาติ เวลลิงตัน คอลเลจ กรุงเทพ ด้วยหลักสูตรแบบอังกฤษ
- บริษัท คันทรี่ กรุ๊ป ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ของตระกูลเตชะอุบล ก็มีการออกข่าวว่าจะพัฒนาโครงการมิกซ์-ยูสบนถนนพระราม 3 ด้วยเงินลงทุนทั้งโครงการประมาณ 32,000 ล้านบาทโดยมีส่วนหนึ่งเป็นโรงเรียนนานาชาติพระราม 3 ซึ่งเป็นการต่อยอดจากการเปิดโรงเรียน Oxford International College Brighton ที่อังกฤษร่วมกับทาง Nord Anglia Education
- บริษัท อรสิริน โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) บริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่มีตระกูลบูรณุปกรณ์เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ก็มีการออกข่าวว่าจะพัฒนาโรงเรียนนานาชาติมิลล์ฮิลล์ โดยเป็นแบรนด์จากอังกฤษ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในระหว่างการก่อสร้างและคาดว่าจะเปิดให้บริการบางส่วนได้ในปีพ.ศ.2568 และกว่าจะเต็มระบบก็อีก 5 - 6 ปีจากนั้น
- กลุ่มสยามกลการ โดยครอบครัวพรประภา ช่วงปลายปีที่ผ่านมามีการประกาศแผนการลงทุนเพื่อเปิดโรงเรียนนานาชาติด้วยการดึงโรงเรียนนานาชาติไฮเกต จากสหราชอาณาจักรมาเปิดกิจการในประเทศไทย โดยจะใช้ที่ดินที่อยู่ใกล้กับสนามกอล์ฟสยามคันทรีคลับ ชลบุรี ซึ่งคาดว่าจะพร้อมเปิดเทอมแรกในเดือนสิงหาคม พ.ศ.2569
อาจจะมีบริษัท นักลงทุน หรือบางตระกูลที่มีแผนจะพัฒนาโรงเรียนนานาชาติในประเทศไทย เพียงแต่ยังไม่ชัดเจน และอาจจะรอการเจรจาเพื่อความร่วมมือบางอย่างอยู่จึงยังไม่ประกาศออกมา แต่จากช่วงหลายปีที่ผ่านมา การขยายตัวโรงเรียนนานาชาติในประเทศไทยในช่วงตั้งแต่ปีพ.ศ.2560 – 2567 อยู่ที่ประมาณ 5% ต่อปี มีบางช่วงเวลาที่อาจจะชะลอหรือหยุดการขยายตัวตามภาวะเศรษฐกิจ จำนวนนักเรียนในระบบก็เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และที่น่าสนใจ คือ การเพิ่มขึ้นของโรงเรียนนานาชาติในต่างจังหวัดนอกกรุงเทพมหานครมีมากกว่าในกรุงเทพมหานครแบบชัดเจน และไม่ได้มีโรงเรียนนานาชาติแค่ในจังหวัดใหญ่ๆ หรือจังหวัดท่องเที่ยวเท่านั้น แต่จังหวัดอื่นๆ ก็มีโรงเรียนนานาชาติเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน ซึ่งกลุ่มเป้าหมายของโรงเรียนนานาชาติเหล่านี้ไม่ใช่แค่คนไทยเท่านั้น แต่เป็นชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานหรือเข้ามาลงทุนทำธุรกิจในประเทศไทย และยังรวมถึงชาวต่างชาติที่ส่งบุตรหลายตนเองเข้ามาเรียนในประเทศไทยด้วย.
Matichon News Link:
https://www.matichon.co.th/economy/news_5041669?utm_source=msn_news&utm_medium=footer_click